ผ้าหางกระรอก

วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553




ผ้าหางกระรอก ผ้าที่นำมาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ประจำจังหวัดนครราชสีมา ที่มีความประณีตสวยงามเป็นที่รู้จักกันดีมาแต่โบราณ จนเป็นที่รู้จักของคน โคราชและคนทั่วไป คือ ผ้าหางกระรอก

ผ้าหางกระรอกเป็นผ้าพื้น ที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งน่าจะเรียกชื่อตามผิวสัมผัส เพราะลายที่ปรากฎบน เนื้อผ้า เป็นเส้นฝอยฟู มองดูเหมือนขนอ่อน ๆ เหลือบระยับ คล้ายกับขนของหางกระรอกแลดูสวยงาม แปลกตา

วัสดุที่ใช้สำหรับทอผ้าหางกระรอก ได้แก่ เส้นใยไหมหรือเส้นใยฝ้าย
ผ้าหางกระรอกที่ทอด้วยไหม เนื้อผ้ามีลักษณะละเอียด เย็นเป็นเงามีสีเหลือบ ถ้าทอด้วยพิม ๒ ตะกอ สีของผ้าจะมีสีเดียวกันทั้ง ๒ ด้าน แต่ถ้าทอด้วยพิม ๓ ตะกอ สีของผ้าด้านหนึ่งจะมี สีอ่อน สามารถเลือกใช้สีเข้มหรืออ่อนได้ตามความต้องการ ถ้าใช้เส้นใยฝ้าย เนื้อผ้าจะไม่ละเอียดเป็นเงาลายฝอยฟูที่ปรากฎบนเนื้อผ้า แลดูไม่ละเอียดอ่อนเท่าลายผ้าที่ทอด้วยไหม

กรรมวิธีในการทอผ้าหางกระรอก ใช้วิธีการเดียวกับการทอผ้าพื้นทั่วไป ต่างกันตรงไหมที่ใช้ทำเส้น พุ่ง ต้องใช้ไหม๒ เส้น นำมาตีเกลียวหรือควบด้วยวิธีปั่น เส้นพุ่ง ๒ เส้นให้เป็นเส้นเดียวกัน เส้นหนึ่งจะ เป็นสีของไหมยืน อีกเส้นหนึ่งต้องเลือกสีให้ กลมกลืนเหลือบ จึงเรียกไหมนี้อีกอย่างหนึ่งว่า ไหมลูกลาย นำไปพุ่งกับเส้นยืน ทอออกมาเป็นเนื้อผ้า แลดูเป็นเส้นฝอยฟูเหลือบ ระยับผ้าหางกระรอกแต่ละผืนยาว กว่าผ้านุ่งธรรมดา ๒ เท่า เพราะสมัยก่อนทอสำหรับใช้นุ่งโจงกระเบน

การประยุกต์ใช้ นอกจากใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม เช่น ใช้นุ่งโจงกระเบน ตัดเสื้อพระราชทาน ตัดเครื่อง แต่งกายสตรี ฯลฯ แล้วยังใช้เป็นผ้าในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ผ้านุ่งบวชนาค ผ้าคลุมศพ ผ้าห่อบาตร คู่บ่าวสาวบางคนใช้สำหรับเป็นผ้าไหว้ เศษผ้าที่ เหลือนำไปประดิษฐเป็นพวงกุญแจ กระเป๋าถือ ผ้าปูโต๊ะ ผ้ารองจาน ฯลฯ

งานย่าโม' 53

วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553








โรคเพลี้ยแป้ง

วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553



เพลี้ยแป้ง (Mealy bug) เป็นแมลงปากดูด จัดอยู่ในวงศ์ Pseudococcidae อันดับ Homoptera แต่นักอนุกรมวิธานบางกลุ่มได้จัดอยู่ในอันดับ Hemiptera แมลงวงศ์นี้มีลักษณะพิเศษคือ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเพศเมียสามารถผลิตไขแป้ง (mealy wax) สีขาวปกคลุมลำตัวไว้ และสามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบใช้เพศและแบบไม่ใช้เพศ


เพลี้ยแป้งที่เข้าทำลายต้นหม่อน Mealy bug (Maconellicoccus hirsutus Green) เพลี้ยแป้งชบา (Hibiscus mealybug) เป็นเพลี้ยแป้งชนิดเดียวกันกับที่ทำลายต้นชบา ซึ่งจัดเป็นแมลงปากดูดรูปร่างกลมคล้ายรูปไข่ ตัวเต็มวัยจะขับสารคล้ายแป้งสีขาวออกมาปกคลุมตัวเมื่อเจริญเต็มวัยตัวเมียไม่มีปีกจะวางไข่มีขนาด 0.15 - 0.30 มิลลิเมตร ประมาณ 200 -400 ฟอง หลังจากวางไข่ 2 - 5 วัน จะออกแยกย้ายดูดน้ำเลี้ยงตามยอดหม่อน เพศเมียจะใช้ระยะเวลาการเจริญเติบโตเพียง 22 - 29 วัน ส่วนเพศผู้ใช้เวลาเพียง 16 - 22 วัน รวมชีพจักรของแมลงชนิดนี้ประมาณ 29 - 36 วันการระบาดและการทำลายของเพลี้ยแป้ง ในช่วงฤดูฝนพบว่า เพลี้ยแป้งมีการระบาดน้อยกว่า จนไม่มีผลต่อแปลงหม่อน แต่ในฤดูแล้งโดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ กับเดือนกรกฎาคม เพลี้ยแป้งจะขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องมีการผสมพันธุ์ (asexual reproduction) เพลี้ยแป้งจะดูดน้ำเลี้ยงบริเวณยอด ตา ใบ และโคนใบ ทำให้ใบหม่อนหดและหงิกกลายเป็นปม การมีใบหดและหงิกงอนั้นเพื่อหลบศัตรูธรรมชาติ เช่น ด้วงเต่าลาย หม่อนจะแสดงอาการใบถี่ หักง่าย ยอดหัก และจะแตกออกเป็นกระจุก ผลผลิตของหม่อนจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด การแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งจะมีมดดำเป็นพาหะ โดยมีผลประโยชน์จากน้ำหวานของเพลี้ยแป้งถ่ายออกมาเป็นอาหารให้
การป้องกันและกำจัด
1. ในช่วงที่เกิดเพลี้ยระบาด ถ้าพบส่วนที่หงิกงอซึ่งเกิดจากการทำลายของเพลี้ยแป้งต้องตัดมาเผาทำลายเสีย เพื่อป้องกันการขยายพันธุ์และแพร่พันธุ์ระบาดไปยังแหล่งอื่น
2. กำจัดมดในแปลงหม่อน
3. ใช้สารเคมีฉีดพ่น แต่ควรระมัดระวังสารพิษตกค้างในใบหม่อน



บุคลลากร



(คลิกที่รูปเพื่อขยาย)



การประกวดเส้นไหม, ผ้าไหม, สิ่งประดิษฐ์, และผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม

ขอเชิญชวนนักเรียนนักศึกษา,บุคคลทั่วไปร่วมประกวดเส้นไหม,ผ้าไหม, สิ่งประดิษฐ์,และผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม ปี 2553ด้วยสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีหม่อนไหม กรมหม่อนไหม จะดำเนินการจัดประกวดเส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน สิ่งประดิษฐ์จากรังไหมและผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม ปี 2553 ทั้งในระดับเยาวชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ จำนวน 35 ประเภท รายละเอียดเพิ่มเติมตามลิงค์ข้างล่างค่ะhttp://www.itqthaisilk.com/qthaisilk/view_updatenews.php?aid=57

กรมหม่อนไหม

วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2553

กรมหม่อนไหมจัดตั้งขึ้นใหม่เป็นกรมที่ ๑๓ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย
เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
สำนักนายกรัฐมนตรีได้ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา
เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๒ และกฎหมายมีผลใช้บังคับเป็นกรมหม่อนไหม
ตั้งแต่วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นไป


การฟื้นฟูการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในยุคปัจจุบัน

หน่วยงานต่างๆได้ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว จึงดำเนินการจัดตั้งสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยมีลำดับการดำเนินงานดังนี้ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๕ คณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการ เรื่องการอนุรักษ์หม่อนไหมไทย
๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องขอให้จัดตั้งสถาบันหม่อนไหมเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
๔ เมษายน ๒๕๔๖ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีหนังสือเรียนเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เห็นสมควรจัดตั้งสำนักงานหม่อนไหมแห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพหลักในการบริหารจัดภารกิจต่างๆที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ให้มีการปฏิบัติงานอย่างบูรณาการ เป็นเอกภาพ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๖ สถาบันวิจัยหม่อนไหม กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมสัมมนากับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาบทสรุปในการคุ้มครองผ้าไหมไทย
๓ สิงหาคม ๒๕๔๗ คณะรัฐมนตรีได้จัดตั้งสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เรื่องการจัดตั้งสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๘ ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เรื่องการจัดตั้งสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเป็นส่วนราชการในสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการและบริหารจัดการ ด้านหม่อนไหมให้เป็นไปอย่างเป็นระบบครบวงจร
การดำเนินงานของสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยังไม่บรรลุภารกิจอย่างเป็นระบบครบวงจร จึงได้ดำเนินการขอจัดตั้ง เป็นหน่วยงานระดับกรมดังนี้ “กรมหม่อนไหม” ได้รับการจัดตั้งขึ้นในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีผลเป็นหน่วยงานตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นมา และเป็นกรมลำดับที่ ๑๓ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ประวัติหม่อนไหมโคราช

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2553

ส่วนที่ 1 ส่วนหลัก



ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา แต่เดิมในระยะแรก ๆ มีชื่อว่า สถานีค้นคว้าทดลองและส่งเสริมการเลี้ยงไหมนครราชสีมา สังกัดกองค้นคว้าและทดลอง กรมกสิกรรม เริ่มก่อกำเนิดเมื่อปี พ.ศ. 2509 โดยกรมธนารักษ์ ได้มอบที่ดินจำนวน 425 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งมอบหมายให้นายศรีฉันท์ นาคะประทีป เป็นหัวหน้าสถานี ต่อมาราวปี พ.ศ. 2510 จังหวัดนครราชสีมา ได้ขอแบ่งพื้นที่จำนวน 150 ไร่ ให้กับทางโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย เพื่อขยายที่เรียนของโรงเรียนประจำจังหวัดชาย จึงเหลือพื้นที่เพียง 275 ไร่ จุดประสงค์ในการก่อตั้งครั้งนี้ เพื่อจะทำการค้นคว้าศึกษาเกี่ยวกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การผสมพันธุ์ให้ได้พันธุ์ดีและเหมาะสมกับประเทศไทย และให้การศึกษา อบรมด้านวิชาการ เพื่อพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในประเทศให้ดีขึ้น หลังจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและป่าไม้ของประเทศญี่ปุ่น ได้เดินทางมาประเทศไทยและได้มาพบปะเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของไทย พร้อมเสนอแผนพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและจัดตั้งสถานีย่อยอีกหลายแห่ง และในที่สุดได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการตามแผนงานโคลัมโบ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2512 ต่อเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2523
ปี พ.ศ. 2514 สถานีค้นคว้าฯนี้ เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ศูนย์วิจัยและอบรมหม่อนไหมนครราชสีมาทำการเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2515 และต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ได้เปลี่ยนใหม่อีกครั้ง เป็น ศูนย์วิจัยหม่อนไหมนครราชสีมา ในสังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขต 4 อุบลราชธานี กรมวิชาการเกษตร ก่อนการรวมงานหม่อนไหมเพื่อจัดตั้ง สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีรายนามผู้บริหารสถานี/ศูนย์ ดังนี้

1. พ.ศ. 2509 – 2515 นายศรีฉันท์ นาคะประทีป
2. พ.ศ. 2515 – 2524 นายสมชาติ รัตนชาตะ
3. พ.ศ. 2524 – 2530 นายสมโพธิ อัครพันธุ์
4. พ.ศ. 2530 – 2541 นายปาน ปั้นเหน่งเพชร
5. พ.ศ. 2541 – 2548 นายพีระพงศ์ เชาวน์เสฎฐกุล


ส่วนที่ 2 ส่วนงานการผลิตพันธุ์หม่อนไหม

ตั้งอยู่ริมถนนราชสีมา-โชคชัย ตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย เดิมชื่อศูนย์ขยายพันธุ์ไหมที่ 2 นครราชสีมา เริ่มก่อสร้างศูนย์ ปี พ.ศ. 2525 โดยความร่วมมือของกรมส่งเสริมการเกษตรและจังหวัดนครราชสีมา เพื่อตอบสนองความต้องการพันธุ์หม่อนและไข่ไหมพันธุ์ดีที่ขณะนั้นเกษตรกรมีความตื่นตัวต้องการเลี้ยงไหมสูงมาก แต่ทางราชการมีพันธุ์หม่อนและไข่ไหมอยู่จำกัด เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงได้ดำเนินการก่อสร้างศูนย์ฯ และมีพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2527 โดย ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้น ศูนย์ฯ แห่งนี้ได้ดำเนินการผลิตไข่ไหมพันธุ์ดีและพันธุ์หม่อนบริการแก่เกษตรกรในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 3 จังหวัด คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ และเลย ต่อมาปรับโครงสร้างระบบราชการใหม่ในปี พ.ศ.2545 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดนครราชสีมา(หม่อนไหม) สังกัดสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จังหวัดขอนแก่น
กรมส่งเสริมการเกษตร ก่อนการรวมงานด้านหม่อนไหม จัดตั้งสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีรายนามผู้บริหารศูนย์ ดังนี้
1. พ.ศ. 2525 – 2544 นายวีระชาติ ชมชื่น
2. พ.ศ. 2545 – 2547 นายสวัสดิ์ บึงไกร
3. พ.ศ. 2547 - 2548 นายกอบชาญ พุกกะเวส

การรวมตัวเป็นหน่วยงานเดียวกัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่องการจัดตั้ง สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยนำส่วนราชการที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับหม่อนไหมในกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรมารวมกัน เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมและอนุรักษ์หม่อนไหม ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ครบวงจรนับตั้งแต่การเพาะปลูก การผลิต การแปรรูป การตลาดและการจำหน่าย ในจังหวัดนครราชสีมา มีหน่วยงานทั้ง 2 ส่วนดังข้างต้นที่กล่าวมา จึงได้ยุบรวมกัน เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ ฯ นครราชสีมา อยู่ภายใต้การบริหารงานของสำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (นครราชสีมา) สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีรายนามผู้บริหารศูนย์ฯ ดังนี้
1. พ.ศ. 2548 – 2549 นายสมพงษ์ ไกรพจน์
2. พ.ศ. 2549 – ปัจจุบัน นายสันติ กลึงกลางดอน